COLUMNIST

วิเคราะห์ Feed-in Tariff คสช. การแข่งขันแบบชุมชนไร้แต้มต่อ
POSTED ON -


8 ปีเห็นจะได้ที่การส่งเสริมพลังงานทดแทนของไทยใช้ระบบแอดเดอร์ (Adder) และใช้มาตลอด 8 ปีโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลัก ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียมากมาย มีบ้างที่ภาครัฐเสียค่าโง่ และก็มีบ้างเหมือนกันที่ภาคเอกชนโง่ คิดง่ายๆ เองว่าอัตราที่รัฐกำหนดมาต้องคืนทุนได้ จึงต้องหมดตัวกันไปเป็นค่าโง่

 

วันนี้ธุรกิจพลังงานทดแทนไม่จำกัดกลุ่มธุรกิจ ใครสนใจและเรียนรู้ก็ก้าวสู่ธุรกิจได้ จะเรียกพลังงานทดแทนว่าเป็น "ธุรกิจมหาชน" ก็คงไม่ผิด แต่ผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้คงต้องอาศัยวิสัยทัศน์ เงินทุน และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความรู้จากการเรียนรู้ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญสองหน้ามีทั้งบวกและลบ อยู่ที่ว่าใครจะมองเหรียญด้านไหน

 

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีการเห็นชอบอัตราส่งเสริมพลังงานทดแทนระบบ Feed-in Tariff : FiT แบบลูกผสม กล่าวคือ มีการนำอัตราเงินเฟ้อมาคำนวณร่วมด้วย ซึ่งเรียกชื่อตามภาคพื้นยุโรปว่า "FIT Premium" หลายคนดีใจแต่อีกหลายคนก็เสียใจ สำหรับผู้เขียนแล้วคงต้องตอบว่าดีมากกว่าร้าย FiT Premium’58 ฉบับต้อนรับสู่ AEC นี้เป็นการส่งสัญญาณว่า ภาครัฐตั้งใจให้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนใดเติบโตหรือเพียงแค่คงอยู่ ตามมาดูกันว่าภาครัฐคิดอย่างไร

 

หน้าตาของอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่แบบลูกผสมระหว่าง Adder + Feed-in Tariff โดยตั้งชื่อใหม่ให้ดูไพเราะว่า "เอฟไอที พรีเมียม" (FIT Premium) ก่อกำเนิดเกิดมาในสมัย คสช. อัตรานี้ไม่รวมถึงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งได้ประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าแล้วแบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือชื่อที่เข้าใจง่ายในวงการก็คือ Solar Farm (โซล่าร์ฟาร์ม) อัตราส่งเสริมหน่วยละ 5.66 บาท เป็นเวลา 20 ปี แบบไม่มีการ Floating ใดๆ ซึ่งคาดว่าจำนวนกว่า 50% ของโครงการอาจจะมีการขายเปลี่ยนมือสู่นักลงทุนเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับหุ้นของตนในตลาดนั่นเอง

 

FiT Premium ไม่ทันจะประกาศอย่างเป็นทางการ ทางเร็กกูเลเตอร์ก็ลดค่า FT ลงถึง 10 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ผู้ที่มีรักแท้กับระบบ Adder เดิม เริ่มเงียบไปตามๆ กัน ส่วนผู้ขายไฟฟ้าด้วยระบบ Adder เดิม รายได้ก็จะลดลงหน่วยละ 10 สตางค์หลังจากขึ้นมากว่า 1 บาทในเวลาไม่กี่ปี เพื่อให้ผู้ที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้พลังงานทดแทนเข้าใจง่ายขึ้น จะขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากตารางเท่าที่ได้รับฟังมา ดังนี้

 

 

1. FiT แบบคงที่ (Fixed) หมายถึง อัตรานี้จะคงที่ไปตลอดระยะเวลาสัญญา ยกเว้นหากจะมีการแข่งขันด้านราคา (Bidding) ในกรณีสายส่งไม่เพียงพอต่อความต้องการก็จะแข่งขันกันเฉพาะที่ตัวเลขคงที่นี้

 

2. FIT แบบผันแปร (Variable) เป็นอัตราที่ผันแปรตาม Core Inflation (เงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน ไม่รวมราคาพลังงาน) อัตรานี้กระทรวงการคลังจะมีการประกาศทุกปี จึงไม่ต้องวิ่งเต้นให้เสียค่าใช้จ่าย ตัวเลขเงินเฟ้อนี้จะบวกเพิ่มอย่างต่อเนื่องเหมือนกับค่า FT ที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อคงจะติดลบยาก นักลงทุนไม่ต้องห่วง ปัจจุบันอัตรานี้เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1.5-2% แน่นอนกว่าหุ้นขึ้น-ลงเสียอีก โดยเริ่มคิดคำนวณให้กับผู้ที่ขายไฟแบบ FiT Premium ในปี 2560 เป็นต้นไป

 

3. อัตรา FiT ปัจจุบันที่ยังไม่รวม Premium หากธุรกิจท่านดูตามตารางแนวนอนได้ค่า Premium เท่าไหร่ ก็ลองบวกดู เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดไม่เกิน 1 MW ก็จะได้ FiT 5.34 บาทต่อหน่วย (kWh) และบวก Premium 50 สตางค์ต่อหน่วย ก็จะเท่ากับ 5.84 บาท เป็นเวลา 8 ปี หลังจากนั้นก็จะกลับมาที่อัตรา 5.34 บาทต่อหน่วยเช่นเดิม อย่าลืมว่าหากท่านขายไฟฟ้าในปี 2560 ท่านก็จะได้บวกเพิ่มในอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน ยกเว้นพลังงานลมและพลังงานน้ำ ซึ่งหมายรวมถึงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ด้วย

 

4. ระยะเวลา ซึ่งตามมาตรฐานก็คือ 20 ปี ยกเว้นบ่อฝังกลบขยะซึ่งในระยะยาวจะลดการส่งเสริมลง เพื่อให้เป็น Zero Landfill โดยให้เหลือเฉพาะบ่อฝังกลบสำหรับขี้เถ้าและกากของเสียที่ย่อยสลายไม่ได้ (Inert Waste) ในที่สุดแล้วคงต้องมีการฟื้นฟูบ่อฝังกลบขยะ (Rehabilitation) ทั่วประเทศเพื่อผลิตพลังงาน และคืนภูมิทัศน์ให้กับชุมชน

 

5. FiT Premium รอบนี้ภาครัฐส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะส่งเสริมเชื้อเพลิงประเภท Bioenergy รวมทั้งแก้ไขปัญหาขยะจากการกำหนดค่า Premium เป็นเวลา 8 ปี ตามอัตราลดหลั่นกันไป ส่วนปลายด้ามขวาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ภาครัฐใจกว้างให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มอีก 50 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลาถึง 20 ปี จากของเดิมคือ 1 บาทต่อหน่วย เพียง 7 ปีเท่านั้น

 

6. ขยะจากบ่อฝังกลบ (Sanitary Landfill) ส่วนขยะแบบเทกอง (Open-Dumped Landfill) ถ้าอยากได้อัตราส่งเสริมก็ต้องมีการปรับปรุงบ่อฝังกลบให้ดีก่อน อย่าลืมว่าอัตรา FiT มาจากค่าไฟฟ้าของคนทั้งประเทศ เพื่อนำมาส่งเสริมให้ผลิตพลังงานทดแทนและรักษาสิ่งแวดล้อม

 

7. ก๊าซชีวภาพ หากมาจากน้ำเสียและของเสียคงไม่ค่อยมีคำถาม แต่ถ้าเป็นพืชพลังงานก็คงต้องตอบคำถามมากมาย เท่าที่ฟังมาก็คือเป็นการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานโดยตรง อาทิ หญ้ายักษ์เนเปียร์ และพันธุ์ไม้โตเร็วต่างๆ ส่วนท่านที่ปลูกพืชพลังงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้า เช่น กระถินยักษ์ และไผ่ ก็ใช้อัตราชีวมวลไม่เกิน 1 MW ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับก๊าซชีวภาพ (จากตารางข้างต้น)

 

8. พลังงานน้ำ อาจไม่ใช่พลังงานเชิงพาณิชย์ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของรัฐ ภาคเอกชนจึงไม่มีโอกาสลงทุน

 

9. พลังงานลม เป็นพลังงานจากธรรมชาติ เช่นเดียวกับพลังงานแสงอาทิตย์ กระแสลมเฉลี่ยในประเทศไทยค่อนข้างต่ำ และต้องใช้เวลาตรวจวัดลมกว่า 2 ปี จึงจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะลงทุนหรือไม่ หากดูจากอัตรา FiT ที่ปรากฏ อาจหมายความว่าภาครัฐจะชะลอการส่งเสริมพลังงานลมในประเทศไทย เนื่องจากมีผู้เสนอขายเกินเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) แล้ว แต่คงต้องดูกันต่อไปว่าจะลงทุนจริงๆ กี่เมกะวัตต์

 

10. อัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (Core Inflation Rate) เป็นส่วนบวกเพิ่มจากอัตราปกติประมาณ 1.5-2% สำหรับชีวมวลแล้วราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยปรับตัวสูงกว่าอัตรานี้มาก คงต้องมีการปรับปรุงอัตราใหม่ทุกๆ 3 ปี

 

นอกจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ประกาศใช้ FiT Premium เมื่อปลายปีที่ผ่านมาแล้วยังมีความเห็นต่อท้ายที่ยากแก่การปฏิบัติและเกิดความไม่เท่าเทียมกัน ดังนี้

 

"ได้เห็นชอบการปรับปรุงรูปแบบจากการรับซื้อตามลำดับการยื่นข้อเสนอที่มีความพร้อมก่อน เป็นการคัดเลือกข้อเสนอโครงการโดยใช้รูปแบบการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูป FiT จะใช้เป็นราคาเริ่มต้นในระบบ Competitive Bidding ดังกล่าว โดยประโยชน์ที่ได้รับคือ ภาครัฐสามารถกำหนดพื้นที่โซนนิ่งของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแต่ละเชื้อเพลิง ป้องกันการแย่งชิงวัตถุดิบ และสอดคล้องกับความสามารถการรองรับไฟฟ้าของระบบสายส่ง

 

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกประกาศหยุดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder โดยมีผลถัดจากวันที่ กพช.มีมติให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ให้แล้วเสร็จภายใน 30 มกราคม 2558 และเปิดให้มีประกาศรับซื้อข้อเสนอขอขายไฟฟ้าใหม่ภายในไตรมาสแรกของปี 2558"

 

หากมีการแข่งขัน (Bidding) กันจริงๆ แล้วก็ต้องระวังจะเข้าตำรา "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลในอนาคตก็อาจจะเหลือเพียงไม่เกิน 10 บริษัท ส่วนชุมชนและธุรกิจเอสเอ็มอีอย่าหวังมาแข่งขันเลย แค่เตรียมเอกสารก็ไปไม่ถูกแล้ว แต่อาจจะมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ ยอมเป็นนอมินีให้บริษัทใหญ่ๆ ดูจะง่ายกว่า

 

ยังมีปัญหาที่กระทรวงพลังงานต้องแก้ไขอีกมากมาย อาทิ การแย่งซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลระหว่างอัตราส่งเสริมเก่าและใหม่ที่แตกต่างกัน แต่เมื่อมองภาพรวมแล้วต้องขอชม คสช. ที่ประกาศ FiT Premium มาเป็นของขวัญรับปีแพะ และปัญหาคงต้องแก้ไขกันไป สงสัยอะไรอย่างคิดเอาเอง มิฉะนั้นแพะจะกลายเป็นหน่วยงานของรัฐ ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน โทรศัพท์ 0-2140-6336 หรือที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โทรศัพท์ 0-2612-1555 หรืออีเมล์มาที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน reenergy.fti@gmail.com เรายินดีช่วยหาข้อมูลให้ท่านนักอุตสาหกรรม

 

งานเลี้ยงยังไม่เลิกรา กระทรวงพลังงานยังมีโครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนทยอยออกมาอีก ไม่ว่าขยะอุตสาหกรรม หรืออาจจะมีเรื่องของความร้อนเหลือทิ้งจากโรงงาน (Waste Heat) ของท่าน รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อาจจะได้นำมาส่งเสริมร่วมกับ FiT Premium ยุค คสช.ด้วย